วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พาณิชย์หวังมาตรการเสริมสภาพคล่องได้ผลเอกชนจับมือ 3 สถาบันการเงิน ลงนาม MOU

พาณิชย์ดันมาตรการส่งเสริมการส่งออกเร่งด่วนเห็นผล จับมือภาค 23 สมาคมลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันการเงิน 3 แห่งของรัฐ EXIM Bank, SME Bank และ บสย. ช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 52 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ) และอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (นายราเชนทร์ พจนสุนทร) ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน 23 สมาคมกับสถาบันการเงิน 3 แห่งของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารกรมส่งเสริมการส่งออก นนทบุร

ในโอกาสนี้ได้มีการสัมมนาเผยแพร่ความรู้มาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการส่งออกของทั้ง 3 สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นการส่งออกในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ทั้งมาตรการ EXIM Surance เพื่อการประกันการส่งออกของ EXIM Bank, มาตรการ SME Power ซึ่งเป็นการบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ SME Bank และมาตรการ SME Easy Guarantee ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย. ที่เป็นการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแบบอนุมัติง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ ในงานดังกล่าวได้จัดให้มีการจัดตั้งคูหาหน่วยบริการเคลื่อนที่ของทั้ง 3 สถาบันการเงินมาเปิดให้คำปรึกษาแนะนำระหว่างการสัมมนา และกรมส่งเสริมการส่งออกได้จัดคูหาให้คำปรึกษาแนะนำด้วยเช่นกัน ซึ่งได้รับความสนใจสอบถามขอคำแนะนำจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ในส่วนของการลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU นั้นมีสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจส่งออก 23 สมาคมเข้าร่วมลงนามทั้งสินค้าและธุรกิจบริการ อาทิเช่น สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน สมาคมเครื่องหนังไทย สมาคมแฟรนไชส์ไทย เป็นต้น

การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อการส่งออกนี้จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยมีสภาพคล่องในการผลิตและส่งออกสินค้าเกิดการจ้างงานต่อเนื่อง คนงานจะไม่ถูกเลิกจ้างและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาตรการสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการถือเป็นมาตรการที่ให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด
แหล่งข่าว : กระทรวงพาณิชย์

งานมหกรรมธุรกิจ สร้างอาชีพ Rainbow Fair 2009

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นประธานเปิดงานมหกรรมธุรกิจ สร้างอาชีพ Rainbow Fair 2009 เมื่อเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2552 ณ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2552 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริต์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า งานมหกรรมธุรกิจ สร้างอาชีพ Rainbow Fair 2009 จัดขึ้นตามโครงการเรนโบว์ ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สมาคมการค้า และผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 7 ช่องทาง ด้วยมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี โดยการนำธุรกิจที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ประกอบด้วย ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ธุรกิจการตลาดแบบตรง ธุรกิจกำจัดขยะเพื่อรีไซเคิลหรือธุรกิจสีเขียว ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และแหล่งการค้าแห่งใหม่ มาช่วยเหลือผู้ว่างงาน นักศึกษาที่จบใหม่ให้มีธุรกิจ มีอาชีพ กิจกรรมภายใต้โครงการที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าร่วมงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมรับสมัครผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจ ซึ่งนับตั้งแต่การประกาศนโยบาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้รับรู้ข้อมูลกว่า 150,000 ราย สนใจจะทำธุรกิจเกือบ 50,000 ราย โดยมีผู้ลงทุนทำธุรกิจในธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 1,000 ราย มูลค่าการลงทุนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ลงทุนประมาณ 60 – 100 ล้านบาท


การจัดมหกรรมธุรกิจ สร้างอาชีพ หรือ Rainbow Fair ครั้งนี้ มีองค์ประกอบที่จะแก้ไขปัญหาแบบครบวงจรคือ มีธุรกิจให้เลือก มีความรู้ที่จะนำไปใช้ในการทำธุรกิจจากผู้รู้และผู้ประกอบธุรกิจที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ มีศูนย์ปรึกษาธุรกิจ หรือ Business Clinic ที่จะให้คำปรึกษาแนะทำทางด้านธุรกิจ รวมทั้งคำแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ซึ่งคาดว่างานนี้ จะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 100,000 ราย และก่อให้เกิดธุรกิจรายใหม่ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจ E-Commerce ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย
แหล่งข่าว : กระทรวงพาณิชย์

ลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2552 ณ ห้าง บิ๊กซี สาขาติวานนท์ ว่า
ดิฉันมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง “ความร่วมมือในการส่งเสริมการรับซื้อและการจัดจำหน่ายผลิตผักและผลไม้ไทย” ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ห้างบิ๊กซี ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนทุกระดับมีความอยู่ดีกินดี ดิฉันจึงได้มอบนโยบายการผลักดันผลิตผลการเกษตร และให้การสนับสนุนด้านการตลาดแก่สินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคการเกษตรมีมูลค่ากว่าร้อยละ 11 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) และเกี่ยวข้องกับร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศไทย
ในด้านการส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้รณรงค์ให้คนไทยบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น และสนับสนุนอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และรองรับผลผลิตส่วนเกินที่ออกมาในตลาด
สำหรับด้านการตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก อาทิ การจัดการแสดงสินค้าอาหารนานาชาติในไทย การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร และการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพ สินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในตลาดหลักและตลาดใหม่
ทั้งนี้ ในปัจจุบันช่องทางการระบายผลิตผลการเกษตรของไทยที่สำคัญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ช่องทาง Modern Trade หรือการกระจายสินค้าผ่านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่มีสาขาทั่วราชอาณาจักรไทย และทั่วโลก
สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของมิตรไมตรีและการเป็นพันธมิตรกันยาวนาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง กระทรวงพาณิชย์ และบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จึงเห็นสมควร จัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการรับซื้อ และส่งออกผลิตผลการเกษตรของไทย ผ่านสาขาห้างบิ๊กซี ทั่วราชอาณาจักรไทย และผ่านเครือข่ายกลุ่มคาสิโน ทั่วโลก โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ
1. จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตผักและผลไม้ที่เป็นประจำฤดูกาล และเป็นประจำปี ที่มีคุณภาพที่เหมาะสมจากภาคการเกษตรภายในประเทศ ในปี พ.ศ.2552 อีกอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยคิดเป็นปริมาณการรับซื้อทั้งหมด 10,000 ตัน ในตลอดปี พ.ศ.2552 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 180 – 200 ล้านบาท
2. จะส่งเสริมการจำหน่ายผัก และผลไม้ไทยที่เป็นประจำฤดูกาลของไทย ตลอดจนผักและผลไม้ไทยประจำปีจากเกษตรกรไทย ในทุกสาขาของบิ๊กซีทั่วประเทศ ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการขายของบิ๊กซี
3. จะส่งเสริมและพัฒนาผักและผลไม้จากเกษตรกรไทย ทั้งด้านการสร้างภาพลักษณ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผักและผลไม้ไทย โดยจัดพื้นที่จำหน่ายเฉพาะส่วน พร้อมติดป้ายเจาะจงว่าเป็นสินค้าไทยแยกออกจากสินค้าอื่น รวมทั้งให้ความรู้ด้านวิชาการให้แก่เกษตรกรไทย โดยผ่านทางสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าสู่ระบบการจัดการคุณภาพ GAP ได้ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดรองรับสินค้าผักและผลไม้แปรรูป อันเป็นการสร้างความเป็นบูรณการทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย
4. จะส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น หรือ OTOP ด้วยการจัดเตรียมพื้นที่ โดยไม่คิดค่าเช่า ใน 67 สาขาทั่วประเทศ สำหรับจำหน่ายสินค้า OTOP และสนับสนุนพื้นที่ของสาขา เพื่อการจัดนิทรรศการ OTOP ทั้งในระดับย่อย และระดับประเทศด้วย
5. และจะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ ในการเป็นผู้ดำเนินการประสานงาน เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้กับผักและผลไม้จากภาคการเกษตรไทย รวมทั้งสินค้าประเภทอื่นๆ โดยบิ๊กซีจะติดต่อประสานงานกับบริษัทในกลุ่ม (ห้าง) คาสิโน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ในสาขาต่างๆ ของเครือข่ายกลุ่ม (ห้าง) คาสิโน

แหล่งข่าว : กระทรวงพาณิชย์

ธ.ก.ส.เตรียมรับมือลำไยล้นตลาดชี้พื้นที่ปลูกเพิ่มกระทบราคาลดลง

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.เตรียมจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางลำไยไทย” ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ เพื่อสะท้อนปัญหาและเตรียมความพร้อมในการจัดการผลผลิตลำไยที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคม รวมทั้งทบทวนบทบาทและกลไกการจัดการผลผลิตตามมาตรการการแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำเนื่องมาจากลำไยล้นตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รายงานแนวโน้มการผลิตลำไยปี 2552 ว่า พื้นที่ให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น 2.13% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 7.82% ปริมาณการส่งออกลำไยสดและผลิตภัณฑ์จากลำไยเพิ่มขึ้น 10% โดยประเทศจีนเป็นตลาดหลักที่มีความต้องการบริโภค อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาลำไยสดและลำไยอบแห้งที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ภาครัฐมีโครงการรับจำนำผลผลิตลำไยอบแห้งทั้งเปลือกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่คาดหวังว่ามาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านราคาให้ เกษตรกรจึงเพิ่มพื้นที่การปลูก ขณะที่การแปรรูปลำไยยังคงมีข้อจำกัดทั้งขาดเทคโนโลยี ขาดเงินลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในการแปรรูป ตลอดจนการขาดกลไกเชื่อมโยงเครือข่ายและการรวมกลุ่มเพื่อการแปรรูปลำไยและการตลาด

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เตือนผู้ส่งออกไทยตรวจสารเคมีตกค้างในผลไม้ที่ส่งไปแคนาดา

เตือนผู้ส่งออกไทยตรวจสารเคมีตกค้างในผลไม้ที่ส่งไปแคนาดานางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ได้ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานที่แคนาดากำหนดในผลไม้ 2 ชนิด ได้แก่ ส้ม (Honey Madarin) และมะพร้าว (Fresh coconut) ของไทย โดยสารเคมีที่ตรวจพบได้แก่สาร Profenofos และสาร Carbendazim ซึ่งแคนาดากำหนดให้มีปริมาณตกค้างได้ไม่เกินกว่า 0.1 ppm. ขั้นตอนการตรวจสอบสารตกค้างในผลไม้ของหน่วยงาน CFIA มีดังนี้1. สุ่มตรวจจากจุดจำหน่ายในร้านค้าปลีก2. ผลไม้ที่พบปริมาณสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดจะถูกตรวจสอบตามมาตรการในกลุ่ม “เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ” (surveillance phase) โดยทำการกักกันและตรวจสอบผลไม้ที่นำเข้าจากบริษัทเดียวกันนี้ไปอีก 5 ล็อต (loads)3. หาก CFIA พบว่าสินค้าในล็อตมีสารตกค้างต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะย้ายผลิตภัณฑ์ออกจากกลุ่ม “เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ” เป็น “เฝ้าระวัง” (monitoring phase)4. หาก CFIA พบว่าสินค้าในล็อตยังคงมีสารตกค้างสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะย้ายผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่ม “compliance phase” ซึ่งต้องถูกตรวจสอบสารตกค้างอย่างถี่ถ้วน โดยสินค้าทุกล็อตต้องได้รับใบรับรองจากห้องวิจัยที่ได้รับการรับรองจาก CFIA อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบมาตรฐานผลไม้นำเข้าที่แคนาดากำหนดได้ที่เว็บไซต์ http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/frefra/cdnreqe.shtml รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งผลไม้ไปยังตลาดแคนาดา ปีละประมาณ 250 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องระมัดระวังไม่ให้มีสารตกค้างในผลไม้ รวมทั้งสินค้าอาหาร เพื่อเป็นการรักษาตลาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าของไทยในตลาดโลกอีกด้วย
แหล่งข่าว : กรมการค้าต่างประเทศ

สถาบันอาหาร แนะผู้ประกอบการอาหารขยายสินค้าอาหารไปยัง "รัสเซีย"

สถาบันอาหาร แนะผู้ประกอบการอาหารขยายสินค้าอาหารไปยัง "รัสเซีย" ที่มีนำเข้าสินค้าอาหาร เช่น ข้าว ผักผลไม้สด อาหารทะเลสด และอาหารแปรรูปถึง 50%นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มุ่งเน้นการขยายตลาดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพิงตลาดหลักเดิมที่เริ่มมีแนวโน้มความต้องการที่อิ่มตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เช่น จีน อินเดีย และรัสเซียโดยเฉพาะตลาดรัสเซีย ถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่ประเทศไทยให้ความสนใจอย่างสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าอาหารถึงกว่าร้อยละ 50 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศรัสเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของผู้บริโภคในประเทศรัสเซียเพิ่มสูงขึ้นตามมา กลุ่มสินค้าอาหารนำเข้าที่สำคัญของรัสเซีย ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้สด อาหารทะเลสด และอาหารแปรรูป ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยบางรายสามารถนำสินค้าเข้าไปตีตลาดได้แล้ว โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่มีวางจำหน่ายอยู่ที่ตลาดสดและซุปเปอร์มาเกตระดับบน ราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อลูก และผลไม้อื่นๆ ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน อาทิ สับปะรด กล้วย มะม่วง และทับทิม เป็นต้น และในส่วนของผักที่นิยมบริโภค ได้แก่ มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ ผักกาด แตงกวา และมันฝรั่ง ทั้งนี้สินค้าอีกประเภทที่ประเทศไทยมีโอกาสในตลาดรัสเซีย คือ ข้าว เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการบริโภคข้าวของชาวรัสเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ประเทศรัสเซียยังถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยการส่งออกน้ำมัน สินค้าพลังงาน แร่ธาตุ รวมถึงสินค้าอาวุธยุทธปัจจัย ซึ่งทำให้ยังคงมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงอยู่จำนวนหนึ่ง โดยตลาดกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูง และปัจจัยด้านราคาไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคนัก ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยน่าจะสามารถเจาะตลาดเข้าไป

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

สารเคมีอันตรายในสินค้าโซฟาหนังจากประเทศจีน

สารเคมีอันตรายในสินค้าโซฟาหนังจากประเทศจีน นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักข่าวบีบีซีของสหราชอาณาจักรรายงานข่าวว่า ชาวอังกฤษมากกว่า 1,600 คน ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่หลายรายในสหราชอาณาจักรประกอบด้วย Argos, Walmsleys, Land of Leather และผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์อีก 11 ราย ในฐานที่จำหน่ายโซฟาที่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง ซึ่งผลิตโดยบริษัทจากประเทศจีนที่ใช้ชื่อว่า Link wise และ Eurosofa ซึ่งถูกตรวจพบสารเคมีที่ใช้ในการระงับการแพร่ของเชื้อรา Dimethyl Fumarate (DMF) ในปริมาณสูง สารเคมีดังกล่าวจะระเหยเข้าไปในผืนหนังหุ้มโซฟา และซึมเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่สัมผัสของผู้ใช้ ส่งผลให้เกิดอาการคันและเกิดอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ขณะนี้บริษัท Argos และ Walmsleys ได้ เรียกคืนและชดใช้ค่าโซฟาแล้ว จำนวน 30,000 ชุด และหยุดจำหน่ายแล้ว ปัจจุบันประเทศสมาชิกอียูเห็นชอบประกาศร่างการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรป ห้ามการใช้สาร DMF ในสินค้าที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลถึงการนำเข้าสินค้าจากเอเชียโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่นิยมใช้สารเคมีนี้ในการระงับเชื้อราอันเกิดจากความชื้นในการเก็บสินค้าในโกดังและระหว่างการขนส่ง รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปสหราชอาณาจักร มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 5,011 ล้านบาท (ปี 2549-2551) ในปี 2551 ไทยส่งออกมูลค่า 4,585 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปสหราชอาณาจักร จึงขอแจ้งเตือนผู้ประกอบการไทยให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีดังกล่าว เพื่อให้สินค้าไม่ถูกกัก ณ ด่านนำเข้า

แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

โครงการลดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการลดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า บริษัท Emergent Ventures India (EVI) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาโครงการลดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการดำเนินโครงการมากกว่า 200 โครงการ ซึ่งครอบคลุมการใช้เทคโนโลยี พลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังชีวภาพ (Biomass) และเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เป็นต้น ขณะนี้ได้จัดตั้งสำนักงานในประเทศไทยแล้วโดยที่บริษัท EVI ได้เล็งเห็นศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยต่อการเข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะด้านการค้า Carbon Credit ภายใต้พิธีสารโตเกียวที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสะสม Carbon Credit ไว้เพื่อขายให้กับประเทศอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเกินกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้โครงการต่าง ๆ เหล่านั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังกล่าว สู่ชุมชนเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://www.emergent-ventures.com
แหล่งข่าว : กรมการค้าต่างประเทศ

งานสานสัมพันธ์สองฝั่งลุ่มน้ำโขง ครั้งที่1

ด้วยชมรมศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ไทยร่วมกับศูนย์การค้าบิ๊กเจียง( เทสโก้โลตัสหนองคาย)จ.หนองคาย จัดงานสานสัมพันธ์สองฝั่งลุ่มน้ำโขง ครั้งที่1 ระหว่างวันที่ 6-15 มิถุนายน 2552จึงขอเชิญผู้ประกอบการทุกท่านที่สนใจออกร้านที่ศูนย์การค้าบิ๊กเจียง( เทสโก้โลตัสหนองคาย)สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอรยุดา โทร. 082-523-4314 , คุณสุริยา โทร 081-668-7291ศูนย์การค้าบิ๊กเจียง โทร/แฟ็ก 042-465-579
แหล่งข่าว : ชมรมส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ไทย

กรมการค้าต่างประเทศจัดสัมมนา โอกาสทางการค้าการลงทุนในกัมพูชาที่จันทบุรี

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กำหนดจัดสัมมนา “โอกาสทางการค้า การลงทุนในประเทศกัมพูชา และนโยบายการลงทุนเกษตรตามสัญญา (Contract Farming) ปี 2552” ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรม เค พี แกรนด์ จังหวัดจันทบุรี ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ มาตรการทางการค้า การลงทุนของไทยกับประเทศกัมพูชา ให้ผู้ประกอบการในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัย สามารถตัดสินใจในการแสวงหาโอกาสขยายการค้า การลงทุนของตนเองกับประเทศกัมพูชา และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การลงทุนที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับประเทศกัมพูชา รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในนโยบายการลงทุนเกษตรตามสัญญา (Contract Farming) ปี 2552 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย – กัมพูชา ปี 2551 มีมูลค่า 50,299 ล้านบาท เป็นการส่งออก 47,372 ล้านบาท นำเข้า 2,928 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 44,444 ล้านบาท สำหรับปี 2552 (ม.ค. – มี.ค.) มีมูลค่า 10,985 ล้านบาท ลดลงจากช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.7 เป็นการส่งออก 10,581 ล้านบาท นำเข้า 404 ล้านบาท
แหล่งข่าว : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก

กำหนดแผนการปฎิบัติการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร

วันที่ 20 พฤษภาคม 2552 นายยงยศ เมฆอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกและคณะทำงานบริหารจัดการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้เข้าร่วมประชุม เพื่อการกำหนดแผนการปฎิบัติการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร

แหล่งข้อมูลข่าว : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เทศกาลมะเฟืองหวานผสมผสานผลไม้ดีเมืองพิษณุโลกเพื่อ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว

จังหวัดพิษณุโลกจัดงาน "เทศกาลมะเฟืองหวาน ผสมผสานผลไม้ดีเมืองพิษณุโลก" 24 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2552 เพื่อเสริมสร้างด้านการตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด

ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้กำหนดจัดงาน เทศกาลมะเฟืองหวาน ผสมผสานผลไม้ดีเมืองพิษณุโลก ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2552 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการจัดงานเป็นปีที่ 2 แล้ว การจัดงานเทศกาลมะเฟืองหวานฯ จังหวัดพิษณุโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพและรายได้ให้กับผู้ประกอบอาชีพด้านไม้ผล และผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากผลไม้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวและเกษตรกร เป็นการส่งเสริมด้านการตลาดรองรับผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ ตลอดทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของสวนผลไม้กับผู้ประกอบการได้พบกัน และติดต่อซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคเองก็สามารถที่จะหาซื้อผลไม้ที่สด อร่อยและราคาไม่แพง ในการจัดงานยังมีกิจกรรมที่จะสร้างสีสรรและดึงดูดความสนใจให้กับผู้มาเที่ยวชมงาน อาทิ การประกวดมะเฟืองหวานและผลิตผลทางการเกษตร การประกวดธิดามะเฟืองหวาน การประกวดร้องเพลงผู้นำหมู่บ้าน และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2552 เป็นช่วงที่ผลไม้ต่างๆ ของจังหวัดพิษณุโลก เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด แต่ยังไม่กระจายและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย การจัดงานเทศกาลมะเฟืองหวานฯ จึงเป็นการส่งเสริมให้ผลไม้ชนิดต่างๆมีตลาดรองรับส่งเสริมอาชีพด้านผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ อันจะทำให้ผลไม้ของจังหวัดพิษณุโลก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและตลาดมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ เป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัด และยังสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอีกทางด้วย

แหล่งข้อมูลข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก

มหกรรมธงฟ้ามหาชน จังหวัดสุโขทัย

การค้าภายในจังหวัดสุโขทัย จัดงาน "มหกรรมธงฟ้า มหาชน" จังหวัดสุโขทัย ขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2552 เวลา 09.00-20.00 น. ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ถนนนิกรเกษตร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โดยในงานจัดให้มีการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในการครองชีพตรงจากโรงงานกว่า 500 ร้าน อาทิ ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันพืช เครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้า OTOP วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ และเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้บริโภคจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง โดย นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชจังหวัดสุโขทัย ให้เกียรติเป็นประธาน
แหล่งข้อมูลข่าว : นางสาวเนาวรัตน์ จิรัฐติกาลกุล การค้าภายในจังหวัดสุโขทัย
เลขที่ 9 อาคารสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ชั้น 3 ถนนศรีอินทราทิตย์ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย 64000
โทร.0-55610638,0-55611238, 0-556 2769
โทรสาร. 0-55610638

มหกรรมพาณิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงการ "มหกรรมพาณิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค" โดยกำหนดจัดงานแสดงจำหน่ายสินค้าและบริการ จัดนิทรรศการแสดงผลงานกระทรวงพาณิชย์ จัดส่วนเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ รวม 4 ภาคๆ ละ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท พิษณุโลก ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายและเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าและบริการ
นางพิมล ปงกองแก้ว กล่าวต่อว่า สำหรับภาคเหนือ ได้กำหนดจัดงานมหกรรมพาณิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2552 ณ บริเวณสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ โดยภายในงานจะรวบรวมสินค้าเด่นกว่า 300 บูธ จากทั่วประเทศ สินค้า OTOP , OPOP ,Select , OTOP ระดับ 3-5 ดาว สินค้าส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์เครื่องเขียน เสื้อผ้านักเรียน ชุดกีฬา สินค้าเกษตรตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ ได้จัดนิทรรศการแสดงประวัติและผลงานการดำเนินงานกระทรวงพาณิชย์ คลินิคให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ของกรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมการค้าภายใน
นางพิมล ปองกองแก้ว ได้กล่าวเชิญชวนชาวพิษณุโลกทุกท่าน เลือกชมและเลือกซื้อสินค้าภายในงานมหกรรมพาณิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2552 ณ บริเวณสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ทั้งนี้ นอกจากผู้เข้าชมงานจะได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดี ราคาประหยัด และชมนิทรรศการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ภายในงานยังได้จัดเตรียมกิจกรรมบันเทิงไว้มากมาย อาทิ การแสดงดนตรีจากศิลปินดัง การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
การจัดงานมหกรรมพาณิชย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ปี 2552
วันที่ 27-31 พฤศภาคม 2552 ณ บริเวณเขื่อนเรียงหินและถนนหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท
วันที่ 5-9 มิถุนายน 2552 ณ สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
วันที่ 26-30 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเภก มหาวิทยาลัยข่อนแก่น จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 24-28 กรกฎาคม 2552 ณ สหกรณ์สุราษฏร์ธานี จำกัด จังหวัดสุราษฏร์ธานี

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มหกรรมธงฟ้า มหาชน จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2

นางอุบลรัตน์ ราชแสนเมือง การค้าภายในจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลก จัดงาน "มหกรรมธงฟ้า มหาชน จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขยายตลาดรองรับผลผลิตโดย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร ช่วยตรึงราคาสินค้าและกระตุ้นการบริโภคของประชาชน เพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับประชาชนและผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าคุณภาพดี ราคาประหยัด ในงานพบกับสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดจากผู้ผลิตโดยตรง เช่น มะม่วง มะลอกอ และผลไม้จากเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ข้าวสาร ผักสดปลอดภัยจากสารพิษ กลุ่มเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก ไข่ไก่ เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จาก บจก.เจริญโภคภัณฑ์ (CP) ผลิตภัณฑ์จากไก่ ของ บริษัท สหฟาร์ม สาขาพิษณุโลก น้ำตาลทรายจากโรงงานน้ำตาลพิษณุโลก สินค้า OTOP ของจังหวัดพิษณุโลก สินค้าอุปโภคบริโภคจากบริษัทผู้ผลิตและร้านค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัด เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ชุดเครื่องนอน ถุงเท้า รองเท้า เครื่องหนัง อาหารทะเล และสินค้ามากมายกว่า 40 บูธ ที่จำหน่ายในงาน
แหล่งข้อมูลข่าว : สำนักงานการค้าภายในจังหวัดพิษณุโลก
เลขที่ 14 ถนนจ่านกร้อง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
โทร. 0-5525-2680, 0-5521-5710, 0-5523-1037
โทรสาร. 0-5525-2680, 0-5521-5710

การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สัมมนาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (จังหวัดเพชรบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุพรรณบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, นครปฐม และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 200 นาย ณ โรงแรมรอยัล ไดมอน จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบัน ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายศุลกากร กฎหมายภาษีอากร และกฎหมาย่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นต้น สรุปมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการควบคุมการนำเข้าเครื่องจักรผลิตซีดี มาตรการควบคุมการผลิตซีดี มาตรการควบคุมการค้าปลีก มาตรการควบคุมการนำเข้าและส่งออก และมาตรการการให้เงินรางวัลและเงินสินบน ซึ่งทำให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้กำหนดลดลงในระดับหนึ่ง และอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ให้มีความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติในการดำเนินคดี เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรม สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยส่วนรวม

โครงการเสริมสภาพคล่องทางการเงินและการประกันการส่งออกให้แก้ผู้ประกอบการ

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2552 ณ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการเสริมสภาพคล่องทางการเงินและการประกันการส่งออกให้แก้ผู้ประกอบการ” และ “พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาคเอกชน 23 สมาคม กับ 3 สถาบันการเงิน (Exim Bank, SME Bank และ บสย.” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2552 ณ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ (สำนักงานรัฐมนตรี 7 พ.ค. 52)
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

“มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ”

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ” วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2552 ณ ห้างเทสโก้โลตัส พลัส ศรีนครินทร์ ชั้น 1 สมุทรปราการ บริษัท เกรท ดีไซน์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด หรือในนามของนิตยสารตั้งตัว และคณะเป็นผู้จัดงาน “มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ” ซึ่งทราบว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานที่รวบรวมแฟรนไชส์ที่น่าลงทุนทั่วประเทศ รวมถึงธุรกิจที่น่าสนใจมาอยู่ในงานเดียวกัน โดยมุ่งหวังที่จะให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ ทำให้ประชาชนทั่วไปมีอาชีพ เกิดการจ้างงาน ลดงบประมาณภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชน และเพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง และผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้(ความสอดคล้องของงาน “มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ” และหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์) ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงสอดคล้องกับ Rainbow Project ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี (ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ในอันที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน รวมถึงนักศึกษาที่จบใหม่ หรือกำลังจะจบการศึกษา โดย ดึงธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจ E-Commerce ธุรกิจการตลาดแบบตรง และธุรกิจกำจัดขยะเพื่อรีไซเคิล ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ Rainbow Project นี้ นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังเป็นหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เข้มแข็ง และเตรียมความพร้อมสู่ต่างประเทศ โดย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 8 ปี มีผู้เข้ารับการพัฒนามากกว่า 400 ธุรกิจ ซึ่งระบบแฟรนไชส์ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและขยายกิจการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว สามารถลดข้อจำกัดทางด้านเงินทุนและเวลา นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่ขาดประสบการณ์ และความรู้ทางด้านธุรกิจและการตลาดอย่างเป็นระบบ การจัดงาน “มหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ” ครั้งนี้ จึงตอบสนองนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวแล้วข้างต้น อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายที่ดีของ “การมีส่วนร่วม” ทั้งในส่วนของเอกชน ซึ่งก็คือ “นิตยสารตั้งตัว” และห้างค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่อย่าง “เทสโก้โลตัส” โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกันคือ ช่วยเหลือหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น

งาน Middle East 2009 “Services Opportunities Market”

วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดงาน Middle East 2009 “Services Opportunities Market” ภายในงานได้จัดให้มีนิทรรศการ คลินิกที่ปรึกษาด้านการลงทุน การสัมมนา กฎ ระเบียบ และการเตียมตัว พร้อมให้นักลงทุนเปิดโต๊ะเจรจาการค้า โดยมี นายสุทธิศักดิ์ เลาหชีวิน รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานจัดงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ตลาดตะวันออกกลาง นักธุรกิจที่ลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว ร่วมบรรยาย และเสวนา

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ Savvy Communication Co.,Ltd โทร.02-196-2235-7

กระทรวงพาณิชย์จับมือ ก.คลังเสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ

เมื่อ 7 พ.ค.52 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน 23 สมาคม กับสถาบันการเงินรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อร่วมกันแก้ไขเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่จะมีเงินทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม นางพรทิวา ยอมรับว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้เอกชนนำเงินสินเชื่อไปเสริมสภาพคล่อง และทำให้ภาคการส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนภาษีมุมน้ำเงินนั้น นางพรทิวา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องภาษีมุมน้ำเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อศึกษาให้รอบด้านก่อน หลังจากได้ข้อสรุปจะเสนอ ครม. เร็ว ๆ นี้
ด้านนายประดิษฐ์ กล่าวว่า ในหลักการกระทรวงการคลังไม่ขัดข้องที่กระทรวงพาณิชย์จะนำมาตรการภาษีมุมน้ำเงินมากระตุ้นภาคการส่งออก โดยเฉพาะช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่การปรับลดภาษีจะต้องพิจารณาลงลึกทุกด้าน หากภาครัฐใช้มาตรการภาษีกระตุ้นการส่งออก เมื่อภาครัฐสูญเสียรายได้แต่สามารถผลักดันให้การส่งออกเติบโตมีเงินกลับเข้ามาในประเทศจำนวนมากก็จะต้องดูด้านอื่น ๆ เช่น ทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องหรือเกิดการจ้างงานหรือเกิดการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาร่วมกันว่าหากนำมาตรการดังกล่าวมาใช้จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมการส่งออกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะกำหนดแนวทางการศึกษาของภาษีมุมน้ำเงิน และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็จะประชุมร่วมกันก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง.
ที่มา : สำนักข่าวไทย

กระทรวงพาณิชย์จับมือ ก.คลังเสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ

เมื่อ 7 พ.ค.52 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน 23 สมาคม กับสถาบันการเงินรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อร่วมกันแก้ไขเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่จะมีเงินทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม นางพรทิวา ยอมรับว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้เอกชนนำเงินสินเชื่อไปเสริมสภาพคล่อง และทำให้ภาคการส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนภาษีมุมน้ำเงินนั้น นางพรทิวา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องภาษีมุมน้ำเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อศึกษาให้รอบด้านก่อน หลังจากได้ข้อสรุปจะเสนอ ครม. เร็ว ๆ นี้
ด้านนายประดิษฐ์ กล่าวว่า ในหลักการกระทรวงการคลังไม่ขัดข้องที่กระทรวงพาณิชย์จะนำมาตรการภาษีมุมน้ำเงินมากระตุ้นภาคการส่งออก โดยเฉพาะช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่การปรับลดภาษีจะต้องพิจารณาลงลึกทุกด้าน หากภาครัฐใช้มาตรการภาษีกระตุ้นการส่งออก เมื่อภาครัฐสูญเสียรายได้แต่สามารถผลักดันให้การส่งออกเติบโตมีเงินกลับเข้ามาในประเทศจำนวนมากก็จะต้องดูด้านอื่น ๆ เช่น ทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องหรือเกิดการจ้างงานหรือเกิดการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์จะต้องพิจารณาร่วมกันว่าหากนำมาตรการดังกล่าวมาใช้จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมการส่งออกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะกำหนดแนวทางการศึกษาของภาษีมุมน้ำเงิน และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็จะประชุมร่วมกันก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง.
ที่มา : สำนักข่าวไทย

แก้กม.ลิขสิทธิ์คาดเสร็จภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ พร้อมตั้งอนุกรรมการร่างกม. มุ่งประเด็นกำหนดให้ผู้ซื้อและผู้เช่าพื้นที่มีความผิดก่อน

นางปัจฉิมา ธนสันติ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้นโยบายในการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยกำหนดให้เพิ่มในส่วนของผู้ซื้อ และผู้ให้เช่าพื้นที่สำหรับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ห้างสรรพสินค้า ให้มีความผิดด้วยนั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาถ้อยคำ รวมทั้งขอบเขตของกฎหมาย โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จ รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ตามคำสั่งของรัฐมนตรี จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ซื้อที่กำหนดให้มีความผิดทางแพ่ง จะดูในเรื่องของการซื้อ และการครอบครองสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะที่การดำเนินความผิดกับผู้ซื้อตามกฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปที่มีโทษปรับผู้ที่ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์สูงสุดถึง 8 แสนยูโร แต่การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยในครั้งนี้ คงจะต้องดูถึงวิธีการด้วยว่าจะทำอย่างไร รวมไปถึงลักษณะความผิดและโทษปรับ ที่คงจะแตกต่างจากของยุโรป
นอกจากนี้ ยังตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาถ้อยของกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ในส่วนของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งจะแยกเรื่องออกมาพิจารณาต่างหาก โดยเรื่องนี้จะนำร่างกฎหมายที่มีอยู่ถึง 5 ร่างด้วยกันมาพิจารณาเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้และไม่เดือดร้อน ได้แก่ร่างของกระทรวงพาณิชย์ ร่างกม.ของกฤษฎีกา ร่างกฎหมายของสภาทนายความ ร่างกฎหมายของสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ และร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นางปัจฉิมา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รมช.พาณิชย์ ยังคงเดินหน้าลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่อง ล่าสุดได้นัดหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อหารือถึงการป้องปรามการละเมิด รวมทั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม ได้นัดหารือร่วมกับห้างสรรพสินค้า ทั้งที่เคยได้ลงนามในเอ็มโอยูร่วมกับกรมฯ แล้ว ซึ่งจะเป็นหารือถึงการขอความร่วมมือในการไม่จัดพื้นที่สำหรับผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งจะพูดถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่จะกำหนดให้ผู้เช่าพื้นที่มีความผิดด้วย
ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายลิขสิทธิ์

ไก่ไทยเดี้ยงอียูออกกฎเหล็กคุม-จีนแย่งตลาด

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา สภายุโรป ได้รับรองรายงานเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์สหภาพยุโรป (อียู) ในเรื่องการจำหน่ายไก่ในตลาดอียู โดยกำหนดให้เนื้อไก่ที่ถือว่าเป็นเนื้อไก่สดจะต้องเป็นเนื้อไก่ที่เก็บรักษาอยู่ในช่วงอุณหภูมิ -2 ถึง 4 องศาเซลเซียสห้ามเป็นไก่แช่แข็งในอุณหภูมิต่ำกว่านี้ นอกจากนี้ เสนอปรับแก้ให้ระบุแหล่งกำเนิดบนฉลากสินค้าเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด สรุปข่าวเศรษฐกิจ

กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอราคาอ้างอิงข้าวในสต็อกรัฐที่จะเปิดประมูลต่อที่ประชุมครม.

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พ.ค.52 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอราคาอ้างอิงของข้าวในสตอกรัฐที่จะเปิดประมูลให้ที่ประชุมได้รับทราบโดยราคาอ้างอิงดังกล่าวจะมาจากราคาตลาดในประเทศ ราคาข้าวของหอการค้าไทยและราคาส่งออกข้าวที่กรมศุลกากร โดยจะเป็นราคาที่ใช้สำหรับการประมูลแต่ละครั้ง หากราคาที่ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอมาต่ำกว่าราคาอ้างอิง ก็จะมีคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมของการขายอีกครั้งว่าจะขายหรือไม่
ขณะเดียวกันในระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคมนี้ จะเดินทางไปที่ประเทศเวียดนามเพื่อหารือกับรัฐมนตรีด้านการค้าของเวียดนาม เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางที่ทั้งไทยและเวียดนาม จะร่วมมือด้านการส่งออกข้าว โดยเฉพาะการกำหนดราคาส่งออก เพื่อให้ทั้งไทยและเวียดนาม ในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เป็นผู้กำหนดราคาข้าวในตลาดโลก แทนที่จะเป็นผู้ซื้อเหมือนในปัจจุบัน
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกรับมอบถุงผ้ารณรงค์ลดภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก รับมอบถุงผ้ารณรงค์ลดภาวะโลกร้อน จากร้านอินเตอร์แบ็ค โดย นายสมภพ เต็มถาวรวิจิตร์ มอบถุงผ้าจำนวน 50 ใบ เพื่อแจกจ่ายยังข้าราชการในหน่วยงานและประชาชนทั่วไป เป็นการรณรงค์ลดการใช้ถุงพาสติกและเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าที่ไม่เป็นมลพิษต่อโลกแทน ร้านอินเตอร์แบ็ค อยู่ที่เลขที่ 459/813 หมู่ที่ 7 ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทร.055-223217

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แผนที่จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มานานหลายชั่วอายุคน เมืองเดิมพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม อยู่ห่างจากที่ตั้งตัวเมืองปัจจุบันลงไปทางใต้ประมาณ 5 กม. เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบัน แม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางเดินออกห่างไปประมาณ 10 กม. ที่ตั้งเมืองสองแควเก่าในปัจจุบันคือ บริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของพิษณุโลก ในสมัยสุโขทัยครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ได้โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ.1900 แต่ยังคงเรียกว่าเมืองสองแควเรื่อยมา โดยให้ พระไสลือไทราชโอรสมาครองเมืองในฐานะเมืองลูกหลวง

ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองสองแควเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก และทวีความสำคัญมาก เพราะโดยลักษณะที่ตั้งเมืองนั้นพิษณุโลก อยู่กึ่งกลางระหว่ากรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของไทยอยู่นานถึง 25 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2005 - 2030 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับที่เมืองนี้และทรงผนวชที่วัดจุฬามณีด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองพระราชสมภพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอดีตเคยเป็นเมืองราชธานีฝ่ายเหนือของเมืองแถบลุ่มแม่น้ำยมและน่าน มีพระมหาอุปราชปกครอง ติดต่อกันมาหลายพระองค์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ พิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑล เรียกว่ามณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะ เป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีความงามในด้านทิวทัศน์ธรรมชาติอยู่มากมายบนทางหลวงพิษณุโลก – หล่มสัก จึงเป็นเมืองน่าเที่ยวทั้งด้านการชมโบราณสถานและความงามของธรรมชาติ
คำขวัญจังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา

"งานมหกรรมธงฟ้า ราคาประหยัด "

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์เป็นประธานเปิดพิธี "งานมหกรรมธงฟ้า ราคาประหยัด " ร่วมด้วม นางพิมล ปงกองแก้วพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก นางอุบลรัตน์ ราชแสนเมือง การค้าภายในจังหวัดพิษณุโลกและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ณ บริเวณ สวนชมน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

กำหนดการจัดงานมหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค

กำหนดการจัดงานมหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค จ.พิษณุโลก
การจัดงานมหกรรมเคลื่อนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะจัดที่จังหวัดพิษณุโลก กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 5 - 6มิถุนายน 2552 ณ บริเวณ สวนชมน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
สอบถามรายละเอียดของงานได้ที่
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก
โทร. 055-242909 โทรสาร. 055-243033