จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มานานหลายชั่วอายุคน เมืองเดิมพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม อยู่ห่างจากที่ตั้งตัวเมืองปัจจุบันลงไปทางใต้ประมาณ 5 กม. เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบัน แม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางเดินออกห่างไปประมาณ 10 กม. ที่ตั้งเมืองสองแควเก่าในปัจจุบันคือ บริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของพิษณุโลก ในสมัยสุโขทัยครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ได้โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองในปัจจุบัน เมื่อประมาณปี พ.ศ.1900 แต่ยังคงเรียกว่าเมืองสองแควเรื่อยมา โดยให้ พระไสลือไทราชโอรสมาครองเมืองในฐานะเมืองลูกหลวง
ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองสองแควเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก และทวีความสำคัญมาก เพราะโดยลักษณะที่ตั้งเมืองนั้นพิษณุโลก อยู่กึ่งกลางระหว่ากรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรฝ่ายเหนือ ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของไทยอยู่นานถึง 25 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2005 - 2030 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับที่เมืองนี้และทรงผนวชที่วัดจุฬามณีด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองพระราชสมภพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอดีตเคยเป็นเมืองราชธานีฝ่ายเหนือของเมืองแถบลุ่มแม่น้ำยมและน่าน มีพระมหาอุปราชปกครอง ติดต่อกันมาหลายพระองค์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ พิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑล เรียกว่ามณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะ เป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีความงามในด้านทิวทัศน์ธรรมชาติอยู่มากมายบนทางหลวงพิษณุโลก – หล่มสัก จึงเป็นเมืองน่าเที่ยวทั้งด้านการชมโบราณสถานและความงามของธรรมชาติ
คำขวัญจังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น